การสัมมนาหัวข้อ “จีโนมิกส์ประเทศไทย: อนาคตของการแพทย์จีโนมิกส์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีโนม” ในงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 17 หรือ 17th NSTDA Annual Conference: NAC2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2565 ข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.nstda.or.th/nac/2022

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจีโนมิกส์ หรือการศึกษาจีโนมมนุษย์ ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ ที่ถูกลงอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้จีโนมิกส์ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในหลายสาขา อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ มานุษยวิทยา และอาชญาวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีดังกล่าว มาใช้ในทางการแพทย์และสาธารณสุข

การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) เป็นแนวทางการรักษาสมัยใหม่ที่ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ แม่นยำ สร้างผลกระทบสูงทั้งทางสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัย และให้การรักษา ที่ตรงจุดกับผู้ป่วยได้ทันท่วงที ช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย อาทิ ในผู้ป่วยกลุ่มโรคทางพันธุกรรม และโรคที่แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้

ความรู้ทางด้านจีโนมิกส์เข้ามาช่วยในการวินิจฉัย และรักษาโรควินิจฉัยยากที่เดิมไม่สามารถหาสาเหตุได้ สร้างองค์ความรู้ที่สำคัญทั้งในด้านกลไกการเกิดโรค การวิจัยและพัฒนายาแบบมุ่งเป้า การค้นหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการคัดเลือกยา การออกแบบการรักษา หรือการเฝ้าระวังความรุนแรงของโรค

ปัจจุบัน การตรวจวินิจฉัยการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย มีบริการไม่มากนัก และส่วนใหญ่ยังไม่ถูกบรรจุให้เป็นสิทธิประโยชน์ ที่สามารถเบิกจ่ายได้ ทำให้คนไทยยังไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง

 

Tags: ,