เกษตรกรผู้ปลูกยางทั้งในประเทศไทย และทวีปเอเชีย มักประสบปัญหาต้นยางยืนต้นตายจาก “โรคใบจุดก้างปลา” ซึ่งต้นยางหลายสายพันธุ์ ไม่สามารถต้านทานโรคนี้ได้ นักปรับปรุงพันธุ์ จึงต้องเร่งเตรียมปรับปรุงพันธุ์ยางพารา ให้ต้านทานเชื้อโรคที่วิวัฒนาการอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผลผลิตยางของไทยในอนาคต

ต้นยางที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่คือ สายพันธุ์ RRIM 600 ซึ่งไม่ต้านทานต่อ โรคใบจุดก้างปลา ที่เกิดจากเชื้อรา Corynespora cassiicola หลายประเทศที่เคยพบปัญหาการระบาดของโรค จะเปลี่ยนไปปลูกต้นยางสายพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคทดแทน ไบโอเทค / สวทช. จึงร่วมกับ สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย ใช้เทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรม สร้างแผนที่พันธุกรรมของต้นยางลูกผสม ระหว่างสายพันธุ์ที่สามารถต้านทานเชื้อรา Corynespora และสายพันธุ์ที่ไม่ต้านทานเพื่อค้นหาและพัฒนา ‘เครื่องหมายโมเลกุล’ ที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการต้านทานเชื้อโรคดังกล่าว ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ยางให้เร็วขึ้น เพื่อในอนาคตจะได้มีพันธุ์ยาง ที่สามารถต้านทานต่อโรคใบจุดก้างปลา เพื่อเกษตรกรนำไปเพาะปลูกต่อไป

 

Tags: , , , , , , , , , , , , ,