การสัมมนาในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยอุตสาหกรรมใหม่ การผลิตสารอาหารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Opportunities, Challenges, and Driving Mechanisms for Thailand 4.0 Build up New Industry: Production of Functional Ingredients)” ในการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2560 (NAC2017) วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้องประชุม CC-Auditorium อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ประเทศไทยประสบกับภาวะติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี การเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมา อาศัยปัจจัยภายนอก ทั้งในเรื่องการลงทุนและความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นหลัก ไทยแลนด์ 4.0 เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม (New Engine of Growth) โดยอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารเป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้มีการขยายตัวและเติบโตสูง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ การส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตรหรือการแปรรูปโดยไม่ได้ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูง

การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นโอกาสและความท้าทายในการเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่ได้รับความนิยมสูงทั้งในปัจจุบันและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต มีการประเมินมูลค่าตลาดอาหารฟังก์ชัน ในปี ค.ศ. 2014 ไว้ที่ 9.06 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2020 จะมีมูลค่าสูงถึง 13.22 ล้านล้านบาท และมีการประเมินมูลค่าตลาดสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional Ingredient) ที่มีการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารในปี 2014 ถึง 2.32 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 5.5% จากปี 2015 ถึง 2020 โดยจะมีมูลค่าประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ในปี 2020 และหากมีการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และอาหารสัตว์ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 4.93 ล้านล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตสารอาหารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในประเทศ หากได้รับการสนับสนุนและการผลักดันที่เหมาะสม

จากการคาดการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีโอกาสทางการตลาดสูงและมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมมีการผลิตผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้ เป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญ ในการผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ชนิดต่างๆ โดยใช้วิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ นอกจากนี้ประเทศไทย ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรชีวภาพที่หลากหลาย เช่น สมุนไพร จุลินทรีย์สายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีศักยภาพในการนำมาผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งแนวทางการดำเนินงานเหล่านี้ สอดรับและช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ ประเทศไทย 4.0

อย่างไรก็ตาม ในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในการผลิตสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือและประสานการทำงานอย่างมีระบบ ทั้งภาครัฐ ภาคผู้ประกอบการ ภาคประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ โดยภาคผู้ประกอบการในประเทศจะต้องปรับตัว ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรม ในการสร้างผลิตภัณฑ์สารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ที่มีเอกลักษณ์ มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ มีการก่อตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชื่อมโยงกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ หน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยมีสาขาเป้าหมาย อาทิ อาหารฟังก์ชั่นและสุขภาพ อาหารคุณภาพที่มีมูลค่าเพิ่ม การสนับสนุนธุรกิจสำหรับนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สวทช.เห็นความสำคัญของการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ คือ อุตสาหกรรมการผลิตสารอาหารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยดังกล่าว จึงได้จัดสัมมนาขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบถึง สถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร โอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงโอกาส ความท้าทาย กลไกและปัจจัยสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่: อุตสาหกรรมการผลิตสารอาหารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional Food Ingredient) ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยในอนาคต



ช่วงที่ 1


ช่วงที่ 2


ช่วงที่ 3

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,