ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิม สู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นคุณค่าและทำให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล เป็นแนวทางสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน พ.ศ. 2564-2569 ที่มุ่งเน้น 4 ตัวชี้วัดสำคัญ คือ

1) การลดการใช้ทรัพยากรลง 2 ใน 3 จากปัจจุบัน
2) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 50 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
3) ลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม
4) เพิ่มตลาดและผลิตภัณฑ์จากเศรษฐกิจหมุนเวียน

เพื่อสร้างโอกาสสำหรับเศรษฐกิจใหม่ ที่สร้างรายได้และเพิ่มการจ้างงานให้กับชุมชนและท้องถิ่น สำหรับกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้สำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ในการดำเนินการจัดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้เข้าใจว่าขยะ/ของเสียคือ ทรัพยากรที่ยังสามารถหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ หากมีการแยก จัดเก็บ หมุนเวียน และใช้ประโยชน์ จะสามารถลดปัญหาขยะพลาสติกตกค้าง ขยะพลาสติกทะเล ขยะอินทรีย์ (ขยะเกษตรและอาหาร) เศษวัสดุก่อสร้าง ขยะทั่วไป และของเสียอื่นๆ ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ผู้ผลิตร่วมกับนักวิชาการทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทฺธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

 

Tags: , , , , , , , , , , , ,