นวัตกรรมนาโนคริสตอล เกิด จากความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล)

นาโนคริสตอล เกิดจากการนำผลึกของอินเดียมออกซิไนไตรด์ (Indium Oxynitride) ซึ่งเป็นสารประกอบออกซิเจน ไนโตรเจนของอินเดียม ที่มีขนาดเล็กระดับนาโน เคลือบลงบนเลนส์แก้ว หรือพลาสติก โดยใช้วิธีไอระเหย ซึ่งจะส่งผลให้เลนส์นั้ นเกิดคุณสมบัติพิเศษ คือ ความสามารถในการตัดแสง ในช่วงความยาวคลื่นของแสงที่แตกต่างกัน

ดังนั้น แว่นนาโนคริสตอล จึงทำหน้าที่เป็นฟิลเตอร์ ซึ่งสามารถตัดแสงสีน้ำเงิน เขียว และแดง รวมทั้งรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต หรือรังสียูวีทั้ง UV-A, UV-B และ UV-C ได้ อีกทั้งยังผลิตได้ง่าย ด้วยวัตถุดิบในประเทศทั้งหมด เมื่อนำเลนส์ที่เคลือบด้วยนาโนคริสตอล มาประยุกต์ทำแว่นนาโน เพื่อใช้ในการตรวจหาหลักฐาน ในสถานที่เกิดเหตุ ด้วยวิธีทางด้านแสงยูวี จะช่วยให้เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ มองเห็นสารคัดหลั่ง อาทิ คราบเลือด คราบน้ำลาย คราบอสุจิ หรือลายนิ้วมือ หรือเส้นใย ได้มากกว่า 1 ประเภทด้วยแว่นเพียงอันเดียว ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ให้กับเจ้าหน้าที่

นอกเหนือจาก การนำแว่นนาโนคริสตอลมาใช้ ในงานตรวจสอบสารคัดหลั่ง ของเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์แล้ว แว่นนาโนคริสตอลยังมีศักยภาพ ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ เช่น ใช้ทำแว่นสำหรับแพทย์ ที่ฉายรังสียูวี เพื่อการรักษา หรือเพื่อเสริมความงาม แพทย์ที่ใช้เลเซอร์ในการผ่าตัด หรือแว่นสำหรับป้องกันแสง และรังสีในการเชื่อมโลหะ และการใช้แว่น ป้องกันแสงยูวี ในการคัดแยกกุ้งกุลาดำ เป็นต้น

 

Tags: , , , , , , ,