แหนมเป็นอาหารพื้นเมืองของทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันมูลค่าทางการตลาดผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท อาหารชนิดนี้เกิดจากการหมักเนื้อหมูดิบกับส่วนผสม และเครื่องปรุงต่างๆ ในสภาพไม่มีอากาศ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เกิดรสเปรี้ยว ซึ่งรสเปรี้ยวในแหนมมาจากกรดแลคติก (lactic acid) ที่จุลินทรีย์บางชนิด เช่น จุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ย่อยสลายสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตอย่างน้ำตาล และแป้งในสภาวะที่ไม่มีอากาศ หรือมีอากาศเพียงเล็กน้อย และเปลี่ยนให้เป็นกรดแลคติก

ด้วยเหตุที่แหนมเป็นอาหารที่สามารถนำมารับประทานได้ ทั้งในสภาพแหนมสุก และแหนมดิบที่ไม่ผ่านความร้อนใดๆ ประกอบกับคนไทยจำนวนไม่น้อย นิยมการรับประทานแหนมดิบ จึงทำให้มีโอกาสรับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์แหนม เช่น Salmonella spp., Bacillus cereus, Staphylococcus aureus, Listeria monocytogenes, Escherichia coli O157:H7 และ Yersinia enterocolitica เป็นต้น

ดร.จิตติ์พร เครือเนตร นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และทีมวิจัย ได้พัฒนาเทคโนโลยีบ่งชี้ผลิตภัณฑ์แหนม ซึ่งการพัฒนาวัสดุบ่งชี้สภาวะปลอดภัย จากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ของผลิตภัณฑ์แหนม จะเป็นวัสดุที่สามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่า ผลิตภัณฑ์แหนมอยู่ในสภาพพร้อมรับประทาน และมีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคต่างๆ น้อยลง ทั้งนี้ปัจจุบัน งานวิจัยอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาวิธีติดวัสดุบ่งชี้ไปกับแหนม โดยมีความร่วมมือกับบริษัท สุทธิลักษณ์ อินโนฟู้ด จำกัด (แหนมดอนเมือง กม.26)

 

Tags: , , , , , ,