การเสวนาพิเศษเรื่อง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปรับตัวภาคการเกษตร ในวันอังคารที่ 31 มีนาคม 2558 เวลา 13.30 – 17.00 น. ห้องประชุม CC-Auditorium อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (CC) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียระบุว่า ภาคเกษตรเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด เพราะต้องพึ่งพาสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นหลัก จากรายงานของ Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC ปี 2557 ระบุว่า หากภาคเกษตรไม่มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี 2593 ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด ในพื้นที่เขตร้อนและอบอุ่นจะมีปริมาณผลผลิตลดลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับศตวรรษที่ 20

ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก สำหรับประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะ 30 ปีข้างหน้า มากเป็นอันดับที่ 14 จาก 170 ประเทศ และที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ การเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ความแปรปรวนของฤดูกาล การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

จากปัญหาดังกล่าว การปรับปรุงพันธุ์พืชให้ปรับตัวต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทนต่อโรคและแมลงศัตรูพืช การทำการเกษตรแม่นยำ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาระบบพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่สัมพันธ์กับการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช จึงมีความสำคัญต่อการเตือนภัยเพื่อลดความเสี่ยงหรือมีเวลาจัดการได้ทันท่วงที จะช่วยลดการสูญเสียผลผลิต ประหยัดต้นทุน ลดการใช้ทรัพยากร และเป็นการทำเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วน โดยเฉพาะการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดและปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกเหนือจากเป้าหมายเพื่อการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ยังต้องคำนึงถึงการสร้างดุลยภาพระหว่างการเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่กับการผลิตอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมๆ กัน การเสวนาครั้งนี้ จึงเรียนเชิญนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชนมานำเสนอมุมมองในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในภาคการเกษตร

ทั้งนี้การปรับตัวได้ของภาคการเกษตรเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้ประเทศมีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน มีความสามารถในการรักษา/เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี



ตอนที่ 1/12

ตอนที่ 2/12

ตอนที่ 3/12

ตอนที่ 4/12

ตอนที่ 5/12

ตอนที่ 6/12

ตอนที่ 7/12

ตอนที่ 8/12

ตอนที่ 9/12

ตอนที่ 10/12

ตอนที่ 11/12

ตอนที่ 12/12

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,