การเสวนาเรื่อง โซนนิ่งเกษตร: จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างไร วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน 2558 เวลา 09.00 น – 12.00 น. ห้องประชุม NT-106 อาคารเนคเทค (NT) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ด้วยคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรมที่มีต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้หลักของคนส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพทำการเกษตร ทั้งพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเป็นฐานในการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่สำคัญ ประกอบกับ เกษตรกรรายย่อยมักประสบกับปัญหารายได้ต่ำ เนื่องจากความผันผวนทางการตลาด และขาดการวางแผนจัดการการผลิตที่ดี ที่สำคัญคือ
ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจว่าจะเพาะปลูกพืชชนิดใด เมื่อไร และอย่างไร ในแปลงของตนเอง

ในขณะที่ภาครัฐเองก็ขาดข้อมูลภาคสนามที่ถูกต้องสมบูรณ์ ทำให้การวางแผนในระดับมหภาคไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ภาครัฐจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ด้วยการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การปรับสมดุลของอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของสินค้าเกษตรในแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยการบูรณาการข้อมูลจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลต้นทุนการปลูก ข้อมูลศักยภาพและกายภาพในพื้นที่ รวมถึงข้อมูลสภาพดิน และสภาพอากาศในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร เป็นต้น และนำมาวิเคราะห์ร่วมกับความต้องการของตลาด เพื่อหาความเหมาะสมของการทำการเกษตรในแต่ละพื้นที่

อันจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรกรรมซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มผลกำไรที่สูงกว่าการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การพัฒนาเครื่องมือบูรณาการข้อมูลและแบบจำลองการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตรของพื้นที่ทั่วประเทศนั้น เป็นการบูรณาการข้อมูลแผนที่ ข้อมูลผลผลิต ตามเขตพื้นที่ ข้อมูลสภาพพื้นดินและอากาศตามเขตพื้นที่ ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้ทันที เครื่องมือบูรณาการข้อมูลและแบบจำลองการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตรของพื้นที่ทั่วประเทศดังกล่าว เป็นระบบสารสนเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นระบบกลางสำหรับการจัดเก็บข้อมูลรายแปลงของเกษตรกรเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลการส่งเสริมการผลิต การคาดการณ์ล่วงหน้า

ด้านราคา แหล่งรับซื้อ หรือภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตที่ได้ และระบบสารสนเทศนี้จะช่วยวิเคราะห์สภาพพื้นที่ ฤดูการเพาะปลูก ข้อมูลอุปสงค์และอุปทาน เป็นต้น และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละราย
ระบบสารสนเทศนี้จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ในการทำโซนนิ่งภาคการเกษตรให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยจะช่วยวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรให้เพียงพอและสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของตลาดได้ รวมทั้งรองรับการวิจัยและพัฒนาและการพยากรณ์ปริมาณอุปสงค์อุปทานของตลาดได้อย่างแม่นยำ

ในขณะเดียวกันเกษตรกรรายย่อยก็สามารถให้ข้อมูลการผลิตได้ด้วยตัวเองและได้รับข้อมูลการคาดการณ์ผลผลิตและราคาล่วงหน้าได้อีกทางหนึ่ง อันจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและช่วยลดภาระของรัฐบาล ในการอุดหนุนสินค้าเกษตรในอนาคต การเสวนาครั้งนี้จึงได้จัดขึ้นมาเพื่อเป็นเวทีนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้รวบรวมและผลิตข้อมูล หรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีในการทำ Zoning Optimization หรือผู้ผลักดันให้เกิดการใช้ข้อมูล เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและร่วมมือกันดำเนินโครงการนี้ให้สำเร็จเพื่อเกษตรกรไทยจะได้สามารถทำการเกษตรด้วยข้อมูล ด้วยองค์ความรู้ และจะได้มีรายได้ที่สูงขึ้นต่อไป



ตอนที่ 1/9

ตอนที่ 2/9

ตอนที่ 3/9

ตอนที่ 4/9

ตอนที่ 5/9

ตอนที่ 6/9

ตอนที่ 7/9

ตอนที่ 8/9

ตอนที่ 9/9

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,