การสัมมนา “อุตสาหกรรมชีวมวลสำหรับการผลิตความร้อนและไฟฟ้า (Biomass Industry for Heat and Power)” วันที่ 27 มีนาคม 2562 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม CC-301 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย, อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) โดยควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 °C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
หรือต้องลดการปล่อย CO2 ลง ร้อยละ 40% ภายในปี ค.ศ. 2060 โดยภาคพลังงานเป็นปัจจัยความสำเร็จหลัก ในการมุ่งสู่เป้าหมาย “ต่ำกว่า 2 °C” (2DS)

โดย IEA, 2017 เสนอมุมมองไว้ว่า ต้องมีการผลิตพลังงานในอนาคต ที่มาจากแหล่งคาร์บอนต่ำ ร้อยละ 98 ภายในปี ค.ศ. 2060 โดยลดการผลิตพลังงานจากถ่านหิน จนหมดไปภายในปี ค.ศ. 2040 การผลิตพลังงานจากก๊าซ ควรมีการติดตั้งระบบ Carbon Capture and Storage (CCS) ประมาณร้อยละ 60 ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงกระบวนการ ซึ่งรวมถึงการติดตั้งระบบ CCS ด้วย

การมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั่วโลกยังมีประเด็นการแข่งขันทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งระดับงานวิจัยที่สามารถใช้งานได้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Innovation Disruptions) และการเผชิญกับต้นทุน ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น การดำเนินแนวทางของประเทศไทย นอกเหนือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนวียน ร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภายในปี ค.ศ. 2030 (AEDP 2015) แล้ว รัฐบาลได้มีมุมมองที่สำคัญ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อหน่วยพลังงานไฟฟ้าลงพร้อมกันด้วย โดยกำหนดเป้าหมายเป็น 0.319 kgCO2/kWh ภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วยเช่นกัน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล็งเห็นความสำคัญและสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีจากงานวิจัย ที่จะช่วยสนับสนุนภาคการผลิตทั้งภาคการผลิตชีวมวล ไฟฟ้าและความร้อน ให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน “พลังงานชีวมวล” ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา สวทช.ได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับพันธมิตรมาอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่การพัฒนาชีวมวลที่มีศักยภาพในพื้นที่ดินเสื่อมโทรม เพื่อสร้างเสถียรภาพด้าน Supply การพัฒนาฐานข้อมูลสมบัติของชีวมวลเพื่อการเผาไหม้ การพัฒนากระบวนการปรับปรุงคุณภาพชีวมวล เพื่อทดแทนการใช้ถ่านหิน การวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ชีวมวลทด แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิต การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการเผาไหม้ของประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดศูนย์ด้านการเผาไหม้ เพื่อเชื่อมต่อเทคโนโลยีจากงานวิจัย สู่การสาธิตทดสอบการเผาไหม้ ก่อนนำเทคโนโลยีไปใช้จริง

การจัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความเห็นจากทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวมวล ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งภาครัฐ อุตสาหกรรม และการศึกษา ในประเด็นการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ที่จะช่วยส่งเสริม และสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวมวลในประเทศ ให้มีศักยภาพ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และนำสู่การบรรลุเป้าหมายของประเทศ ในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์



สรุปผลการดำเนินงานโครงการวิจัยและส่งเสริมการใช้ชีวมวล ด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานใหม่
โดย ผศ.ดร.สุธรรม ปทุมสวัสดิ์
ฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย สวทช.


ศักยภาพชีวมวลของประเทศไทย
โดย ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


การบริหารจัดการชีวมวลอย่างยั่งยืน
โดย คุณวิโรจน์ ธีรวัฒน์วาที
บริษัท สหโคเจน กรีน จำกัด


ธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวล
โดย คุณวัฒนพงศ์ ทองสร้อย
สมาคมการค้าชีวมวลไทย (Thai Biomass Trade Association)


ธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวล
โดย คุณปองธรรม แดนวังเดิม
บริษัท เอเชีย ไบโอแมส จำกัด


ทิศทางและนโยบายชีวมวลเพื่อการผลิตความร้อนและไฟฟ้า
โดย ดร. บุญรอด สัจจกุลนุกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล
โดย คุณศิริวัฒน์ เจ็ดสี
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)


การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล
โดย คุณอนันต์ แดงฉ่ำ
โรงไฟฟ้ามิตรผลไบโอเพาเวอร์ จำกัด


แสดงความคิดเห็นและอภิปรายผล
สรุปการสัมมนาและทิศทางของงานวิจัยที่จะพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,