ก่อนปี 2546 กุ้งกุลาดำเป็นกุ้งสายพันธุ์หลักที่เลี้ยง และส่งออก เนื่องจากเป็นกุ้งสายพันธุ์พื้นถิ่น มีลักษณะเด่น คือ มีขนาดใหญ่ รสชาติดี และสีสวย แต่หลังจากประสบปัญหา ขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ มีอาการโตช้า ประกอบกับมีสายพันธุ์กุ้งขาว ที่พัฒนาพันธุ์ ให้มีลักษณะเลี้ยงง่าย ผลผลิตสูง จึงมีการนำเข้าสายพันธุ์กุ้งขาว เข้ามายังประเทศไทย เกษตรกรไทย จึงเปลี่ยนจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ไปเลี้ยงกุ้งขาวเพิ่มขึ้น ปี 2554 ผลผลิตกุ้งกุลาดำ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของผลผลิตกุ้งรวม

แม้กุ้งขาวจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ความต้องการกุ้งกุลาดำ ก็คงยังมีอยู่ เพราะกุ้งกุลาดำ เป็นกุ้งพันธุ์พื้นเมือง ที่มีขนาดใหญ่ รสชาติดี และมีสีสวย ในปี 2546 รัฐบาลยุคนั้นจึงจัดสรรงบประมาณเป็นการเฉพาะ ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง (ศวพก) ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง การคัดเลือก และผลิตพ่อแม่พันธุ์ปลอดโรคจากรุ่นสู่รุ่น ให้แก่เกษตรกร ด้วยการดำเนินงานของบุคลากร ระดับนักวิชาการ และระดับทำงานประมาณ 30 คน

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำปลอดโรคของ ศวพก.จะมีความพิเศษกว่าการเลี้ยงกุ้งของฟาร์มอื่น เพราะทำในระบบปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) โดยจะเริ่มจากต้นน้ำที่ “การพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง” จากการนำกุ้งกุลาดำในที่ต่างๆ ในธรรมชาติมาเข้าสู่กระบวนการของ 3 หน่วยตามขั้นตอน ได้แก่ หน่วยกักกันโรค (Quarantine Center) ที่มีหน้าที่กรองและคัดทิ้งกุ้งที่ติดโรค เพื่อสร้างความมั่นใจว่ากุ้งที่นำมาเข้าสู่ระบบ ไม่มีเชื้อโรคติดต่ออย่างน้อย 2 รุ่น ที่หลังจากนั้นจะถูกส่งไปยัง ศูนย์ผสมและคัดเลือกสายพันธุ์ (Nucleus Breeding Center) และศูนย์เพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์กุ้ง (Broodstock Multiplication Center) โดยทั้งหมดจะทำในระบบปลอดภัยทางชีวภาพ

 

Tags: , , , , , ,