ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 3.7 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 66 ของเกษตรกรในประเทศ การปลูกข้าวมีทั้งที่จำหน่าย และเพื่อการบริโภคเอง ปริมาณข้าวที่เกษตรกรปลูกเพื่อบริโภค มีปริมาณ 2.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.75 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการขนส่งข้าว และค่าจ้างให้กับโรงสีในท้องถิ่น ที่รับจ้างสีข้าว เนื่องจาก ผู้ประกอบการผลิตเครื่องสีข้าวขนาดเล็กในประเทศ มีจำนวนน้อยประมาณ 10 ราย จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาสูง อีกทั้งสูญเสียเวลา และค่าใช้จ่าย ในการสั่งซื้อชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ในการซ่อมแซม หรือบำรุงรักษาเครื่อง

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย นายดุสิต ตั้งพิสิฐโยธิน และกลุ่มวิจัย ร่วมกับ บริษัท สหภัณฑ์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกแบบ และสร้างต้นแบบเครื่องสีข้าวขนาดเล็กขนาด 6 แรงม้าที่สีข้าวได้ 200 กิโลกรัม (ข้าวเปลือก) ต่อชั่วโมง โดยออกแบบ การกะเทาะเปลือกข้าว เป็นแบบลูกยางคู่หมุน ในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อให้ประสิทธิภาพ ในการกะเทาะเปลือกสูงกว่า และเมล็ดข้าวหักน้อยกว่า เครื่องสีข้าวที่มีจำหน่ายทั่วไปในประเทศ ที่ใช้การกะเทาะเปลือกแบบจานหมุนแรงเหวี่ยง หรือแบบลูกหินนอนกับยางเส้น เพื่อลดขั้นตอนการทำงานของเครื่อง ให้ง่ายต่อการใช้งาน เกษตรกรได้ข้าวหลังการสี ที่มีคุณภาพ และมูลค่าเพิ่มขึ้น จากปริมาณเมล็ดข้าวหักที่น้อยลง ลดการสูญเสียเวลา ในการปรับตั้งเครื่องเมื่อ เทียบกับเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก จากต่างประเทศ ที่เกษตรกรใช้อยู่ในปัจจุบัน ลดการนำเข้าเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก และชิ้นส่วนสำหรับการซ่อมแซม บำรุงรักษาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสู งและต้องรอเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรภายในประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง และแข่งขันกับต่างประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เครื่องสีข้าวขนาดเล็กนี้ ได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจาก คณะวิศวกรรม และอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการทดสอบการใช้งาน กับกลุ่มเกษตรกรของ สหกรณ์อินทรีย์เชียงใหม่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในการสีข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลิ 105 พบว่า ได้ผลดี ได้ปริมาณข้าวกล้องร้อยละ 68-72 สูงกว่าที่สหกรณ์นำไปจ้างสีที่โรงสีอื่นที่ได้ปริมาณข้าวกล้องเพียงร้อยละ 64

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้สร้างเครื่องแยกข้าวเปลือก และข้าวกล้อง มาใช้ร่วมกับเครื่องสีข้าวดังกล่าว เพื่อให้ได้ ข้าวกล้องที่สะอาด ไม่มีข้าวเปลือกปน พร้อมนำไปบรรจุขายได้ทันที ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างสีข้าวของสหกรณ์ จำนวน 4 แสนบาทต่อปี สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้เกษตรกร ช่วยเพิ่มศักยภาพ ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศ ให้มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีราคาที่เหมาะสม สำหรับจำหน่ายในชุมชนเกษตรกร และช่วยลดการนำเข้าเครื่องสีข้าวขนาดเล็กจากต่างประเทศ

 

Tags: , , , , , , , , , , ,