“รา” จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตในระบบนิเวศ เพราะส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายอินทรีย์สาร แต่ก็ยังมีราชนิดหนึ่ง ที่ทำลายและก่อโรคในสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและแมง ซึ่งเรียกว่า “ราแมลง” นั่นเอง คณะนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มีการออกสำรวจข้อมูล ความหลากหลายของราแมลง ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศไทยมากว่า 20 ปี ได้มีการค้นพบราแมลงในประเทศไทยกว่า 400 ชนิด เป็นราแมลงสายพันธุ์ใหม่ ที่สำรวจพบครั้งแรกของโลกในประเทศไทย และรายงานไปแล้วจำนวน 24 ชนิด

โดยราแมลงนั้นสามารถพบได้ตั้งแต่พื้นที่ในระดับน้ำทะเล เช่น ป่าพรุราบต่ำ จังหวัดนราธิวาส ไปจนถึงพื้นที่ที่มีระดับสูงสุดในประเทศไทยเช่น ที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะของราแมลง ก็คือ การงอกเส้นใยแทงผ่านผนังลำตัวแมลง และใช้แมลงเป็นแหล่งอาหาร หลังจากนั้นราจะพัฒนาโครงสร้างที่ใช้ในการแพร่กระจายสปอร์ งอกออกมาจากตัวแมลงเพื่อแพร่พันธุ์ต่อไป อย่างเช่น ราแมลงบนดินที่พบระบาดในประเทศไทย และมีผู้คนเก็บไปขายเพราะเห็นว่าเป็นของประหลาด เหมือนจักจั่นมีเขา แล้วเรียกกันว่า ว่านจักจั่น ซึ่งแท้จริงแล้วคือ ราแมลงที่ก่อโรคบนจักจั่นนั่นเอง

ราแมลงใช่ว่ามีแต่โทษเท่านั้น จากผลการวิจัยพบว่า ราแมลงบางชนิด มีคุณสมบัติในการสร้างสารออกฤทธิ์ ทางชีวภาพระดับห้องปฏิบัติการ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น มีการนำราแมลงบางชนิด ไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ในการปราบศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมี บางชนิดนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ในการสร้าง และผลิตพลังงานทดแทนที่มีราคาต่ำ

 

Tags: , , , , , ,