เป็นที่เลื่องลือว่า ความเค็มและความแล้ง คือแรงขับสำคัญที่ทำให้ “ข้าวหอมมะลิ” แห่งทุ่งกุลาร้องไห้ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปทั่วโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความเค็มที่มากเกินไปของชั้นเกลือที่ฝังอยู่ใต้ดิน กลับกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ชาวนาในภาคอีสานหลายชีวิต ต้องสูญอาชีพจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ผลจากการสำรวจของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ “ดินเค็ม” มากกว่า 21 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด โดยพื้นที่ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” หรือ “ภาคอีสาน” ถูกมหันตภัยจากดินเค็มคุกคามมากที่สุดถึง 17 ล้านไร่

สาเหตุที่ภาคอีสานอุดมไปด้วยดินเค็ม เนื่องจากในอดีตกาล ที่ราบสูงแห่งนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน แต่จากการยกตัวของเทือกเขาภูพานที่อยู่ทางตอนกลางของภาคอีสาน ได้ทำให้น้ำทะเลถูกเทือกเขาปิดกั้นจนมีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะ นานวันเข้า น้ำทะเลในแอ่งก็ถูกแสงแดดแผดเผา ตกผลึกเป็นชั้นหินเกลือจำนวนมหาศาล ฝังตัวอยู่ใต้ดิน หากแต่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาประกอบกับการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้น้ำบาดาลที่กัดเซาะอยู่ใต้ชั้นหินเกลือมีระดับที่สูงขึ้น และนำพาเกลือขึ้นมาสะสมอยู่ที่ผิวดิน คราบเกลือขาวที่เต็มไปด้วยความเค็มได้แปรเปลี่ยนผืนดินในบริเวณนั้นให้มิอาจใช้เพาะปลูกได้อีกต่อไป

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,