ในปีเพาะปลูก 2549/2550 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพริกประมาณ 474,717 ไร่ พริกที่มีความสำคัญ 5 ชนิด คือ พริกขี้หนูเม็ดเล็ก พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ พริกยักษ์ พริกหยวก และพริกใหญ่ ได้ผลผลิตสดรวม 333,672 ตัน/ปี พริกที่ปลูกมากที่สุด คือ พริกขี้หนูเม็ดเล็ก และพริกขี้หนูเม็ดใหญ่ มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากสถิติของกรมศุลกากร พบว่า ปี พ.ศ. 2549 ไทยส่งออกพริก ทั้งรูปผลสด ซอสพริก พริกแห้ง เครื่องแกงสำเร็จรูป และพริกบดหรือป่นเป็นมูลค่ารวม 2,161 ล้านบาท และส่งออกเมล็ดพันธุ์พริกเพื่อการค้าปีละกว่า 181 ล้านบาท

นอกจากใช้พริกประกอบอาหารแล้ว มีการนำสารเผ็ดของพริกที่ทำให้เกิดรสเผ็ดร้อน หรือแคปไซซินอยด์ (capsaicinoids) ที่อยู่ในไส้ของผลพริก ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยามากขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พริก ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ในรูปแคปซูล ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร และผลิตภัณฑ์ในรูปโลชั่นและครีม ใช้เป็นยาทาภายนอกบรรเทาปวดเมื่อย ปวดตามข้ออักเสบ และยาฉีดพ่นเพื่อรักษาโรคไซนัส ตลอดจนเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันสัตว์กัดแทะสายไฟและไฟเบอร์ออปติกส์ต่าง ๆ ที่ฝังใต้ดิน เป็นต้น พริกแต่ละชนิดมีสารแคปไซซินอยด์ในปริมาณแตกต่างกัน มีรายงานว่าพริกขี้หนูจากประเทศไทยมีความเผ็ดอยู่ในช่วง 30,000-50,000 Scoville Heat Units (SHU) ในขณะที่พริกจากทั่วโลกมีความเผ็ดในช่วง 0-500,000 SHU

ในปี พ.ศ. 2549 ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สนับสนุน รศ. ดร. สุชีลา เตชะวงศ์เสถียร จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำโครงการจัดการเชื้อพันธุกรรม และการพัฒนาพันธุ์พริกให้มีปริมาณสารเผ็ดสูง ปัจจุบันโครงการรวบรวมพันธุ์พริกเผ็ด จากแหล่งเชื้อพันธุกรรมทั่วโลก และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศ จำนวน 752 พันธุ์ มีความเผ็ดตั้งแต่ 50 – 500,000 SHU และได้ทำการประเมินลักษณะประจำพันธุ์แล้ว 190 พันธุ์ โดยได้รับความร่วมมือจาก 5 หน่วยงาน คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตล้านนาน่าน ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ และได้คัดเลือกพันธุ์พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ พริกขี้หนูเม็ดเล็กที่มีลักษณะดีความเผ็ดสูง มาสร้างประชากรพื้นฐานเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น และได้ถ่ายทอดเชื้อพันธุกรรมพริกเหล่านี้ จำนวน 11 พันธุ์ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ 5 หน่วยงานและภาคเอกชน 19 บริษัทในปี พ.ศ. 2550

 

Tags: , , , , , , ,